อาหารผู้ป่วย ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเลือดจาง โลหิตจางหรือเลือดจาง หมายถึง สภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ โดยทางการแพทย์จะหมายถึงระดับค่าฮีโมโกลบิน (hemoglobin ตัวย่อคือ Hg) ในเลือดต่ำกว่า 13 กรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย หรือ ต่ำกว่า 12 กรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง ฮีโมโกลบิน เป็นสารสำคัญในเม็ดเลือดแดง ประกอบด้วย 2 ส่วนคือโปรตีนชนิดที่เรียกว่าโกลบิน (globin) ประมาณ 94% และฮีม (heme) ประมาณ 6% หากวัดตามค่าความเข้มข้นของเลือด หรือ ค่าฮีมาโตคริต (hematocrit) จะนับว่าผู้ชายที่มีค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 39% และผู้หญิงที่มีค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 36% เป็นผู้ที่มีสภาวะโลหิตจาง
ฮีโมโกลบิน ถูกสร้างจากไขกระดูก และเป็นส่วนประกอบถึง 97% ของเม็ดเลือดแดง โดย 3% ที่เหลือเป็นน้ำและเกลือแร่ ฮีโมโกลบินทำหน้าที่จับออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไป แล้วนำออกซิเจนนี้ไปยังเซลล์ เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ และอวัยวะทุกส่วนของร่างกายเพื่อใช้ออกซิเจนทำปฏิกิริยาเผาผลาญอาหารเป็นพลังงานและสร้างสารชีวเคมีทุกชนิดที่ร่างกายเราต้องการ
ดังนั้นเมื่อร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อย จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานทุกระบบของร่างกาย สามารถสังเกตุเห็นสภาวะเลือดจางได้ อาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง วิงเวียน หน้ามืด มึนงง ในกรณีที่เลือดจางอย่างรุนแรง อาจถึงขั้นเป็นลม หมดสติได้
สาเหตุของโลหิตจาง
1. โลหิตจางจากการสูญเสียเลือด โดยมักเกิดขึ้นที่ระบบทางเดินอาหารและขับถ่าย เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจพบเลือดปนมาในอุจจาระ หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ นอกจากนี้การกินยาแก้ปวดบางชนิดอาจเกิดอาการระคายเคืองในกระเพราะอาหาร ทำให้เกิดแผลและเลือดออกได้ รวมถึงการมีพยาธิปากขอหรือปรสิตชนิดอื่นๆในร่างกายที่ทำให้เลือดออกที่อวัยวะภายใน
2. โลหิตจางจากการขาดสารอาหาร เช่น ขาดธาตุเหล็ก กรดโฟลิก วิตามินบี 12 เกิดขึ้นได้ในทุกเพศวัยที่มีพฤติกรรมการบริโภคไม่เหมาะสม แต่มักพบมากในผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่หรือมีอาการเบื่ออาหาร เลือกรับประทานอาหารบางชนิดเท่านั้น โดยโลหิตจางประเภทนี้สามารถแก้ได้ด้วยโภชนาการบำบัด หรือบริโภคอาหารที่ช่วยเพิ่มเม็ดเลือด
3. โลหิตจางจากโรคเรื้อรัง เช่น ฟอกไต ไตวาย โรคตับ ข้ออักเสบ โดยอาหารป่วยเหล่านี้ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดได้น้อยกว่าปกติ และทำให้เกิดภาวะโลหิตจางในที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไต จะมีปัญหาเลือดจางค่อนข้างรุนแรง และมีระดับเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สาเหตุหลักของสภาวะโลหิตจางของผู้ป่วยโรคไต คือการขาดฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (erythropoietin หรือ EPO) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง ตามปกติแล้ว EPO ประมาณ 90% จะถูกสร้างขึ้นทีไต ดังนั้นเมื่อไตวาย ก็ไม่สามารถสร้าง EPO เพื่อไปกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงได้ จึงส่งผลให้เลือดจาง
4. โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก เกิดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตกง่ายและแตกก่อน 120 วัน โดยตามปกติแล้วเม็ดเลือดแดงจะมีชีวิตอยู่ในร่างกายประมาณ 120 วันก่อนจะเสื่อมสลายไป และไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดแดงชุดใหม่มาทดแทน แต่ถ้าเม็ดเลือดเสื่อมสลายไปก่อนวงจร 120 วัน ก็ทำให้มีเม็ดเลือดไม่พอและมีสภาวะโลหิตจาง สาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายมักเกิดจากกรรมพันธุ์ เช่น โรคธาลัสซีเมีย และเอ็นไซม์ G-6-PD บกพร่อง
5. โลหิตจางโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกเสื่อม โดยโรคเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของอวัยวะที่สร้างเม็ดเลือดโดยเฉพาะไขกระดูก
อาหารช่วยเพิ่มเม็ดเลือด
1. ธาตุเหล็กที่อยู่ในอาหารประเภทเลือด ตับ และเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นธาตุเหล็กในรูปแบบสารประกอบฮีม (heme iron) ที่ร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้ดี
2. ธาตุเหล็กที่อยู่ในธัญพืช แป้ง ไข่ ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักบุ้ง บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง เป็นสารประกอบธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม (nonheme iron) เมื่อรับประทานร่วมกับวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง จะช่วยให้การดูดซึมธาตุเหล็กมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. ข้าวเสริมธาตุเหล็ก ข้าวหอมนิลและข้าวสายพันธุ์ 313 ที่ประกอบด้วยธาตุเหล็ก กรดโฟลิก เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแต่ไม่ชอบบริโภคเนื้อสัตว์
4. อาหารที่มีกรดโฟลิกสูง สำคัญต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ดอกกุยช่าย ตำลึง กะหล่ำดอก ถั่วเมล็ดแห้ง
5. อาหารที่มีวิตามินบี 12 ช่วยลดอาการโลหิตจาง เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นม